วิธีการพัฒนา EQ ให้กับเด็กๆ

EQ คืออะไร?

คำว่า EQ ย่อมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Emotional Quotient ซึ่งมีคำแปลภาษาไทยมากมาย เช่น เชาว์อารมณ์, ความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์, อัจฉริยะทางอารมณ์ ในที่นี้ขอใช้คำแปลว่า“ความฉลาดทางอารมณ์” หรือ Emotional Intelligence ซึ่งหมายถึง ความสามารถของบุคคลที่จะตระหนักถึงความรู้สึก อารมณ์ของตนเองและผู้อื่น รวมไปถึงความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ สามารถรอคอยการตอบสนองความต้องการของตนเองได้อย่างเหมาะสม/ถูกกาลเทศะ สามารถให้กำลังใจตนเองในการเผชิญปัญหาอุปสรรคข้อขัดแย้งต่างๆ ได้อย่างไม่คับข้องใจ รู้จักขจัดความเครียดที่จะขัดขวางความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อันมีค่าของตน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นทั้งในฐานะผู้นำและผู้ตามได้อย่างมีความสุขจนประสบความสำเร็จในการเรียน ในการประกอบอาชีพ ตลอดจนประสบความสำเร็จในชีวิต

ทำไม EQ จึงมีความสำคัญ และมีประโยชน์ต่อบุคคลในหลายแง่มุม ทั้งในชีวิตการงาน ครอบครัว และส่วนตัว
1.บุคลิกภาพ EQ ช่วยส่งเสริมให้มีบุคลิกภาพที่ดี เป็นที่รักของบุคคลรอบข้าง และเป็นที่ยอมรับของสังคม เนื่องจากสามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้อย่างเหมาะสม มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ดี เข้าใจความรู้สึก ความต้องการของผู้อื่น
2. การสื่อสารกับผู้อื่น สามารถแสดงความรู้สึก อารมณ์ของตนได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมตามกาละเทศะ
3. การทำงาน ช่วยในการทำงานมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีความคิดสร้างสรรค์ มีแรงจูงใจ มีความพยายาม และได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมงานที่เกี่ยวข้อง
4. การให้บริการ ด้วยการรับฟังและเข้าใจความต้องการของลูกค้า จึงตอบสนองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
5. การบริหารจัดการ ช่วยเสริมความเป็นผู้นำ รู้จักใช้คน และครองใจคนได้
6. เข้าใจชีวิตของตนเองและผู้อื่น ผู้ที่เข้าใจตนเอง มีความอดทน ควบคุมตนเองได้ และเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็น ย่อมจะเป็นที่รักของบุคคลทั้งหลาย ส่งผลให้ทั้งชีวิตการงานและครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

แนวทางในการพัฒนา EQ ขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยงดูร่วมกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เด็ก มีวิธีการดังนี้

Image may contain: 1 person, smiling, standing and shoes          1. ส่งเสริมพัฒนาการด้านจิตสังคม (Psychosocial development)
ตาม Psychosocial developmental theory ของ Erik Erikson กล่าวว่าพ่อแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการด้านจิตสังคมแก่ลูกน้อย ด้วยการพัฒนาการด้านต่างๆ ตามช่วงลำดับอายุดังนี้
1.1 แรกเกิดถึง 1 ปี
สร้างความไว้วางใจพื้นฐาน (Basic trust) โดยพ่อแม่ให้การดูแลอย่างใกล้ชิด สม่ำเสมอ ไวต่อการรับรู้ และตอบสนองความต้องการของเด็กอย่างถูกต้อง จะทำให้เกิดการยอมรับตนเอง (self-acceptance) และความไว้วางใจในสังคมแวดล้อม (social trust)
1.2 อายุ  1 – 2 ปี
สร้างความสามารถควบคุมตนเอง ( Self-Control) โดยฝึกหัดการควบคุมร่างกายในการกิน การนอน และการขับถ่ายอย่างเหมาะสม ไม่เข้มงวดจนเกินไป ให้เด็กได้มีโอกาสเล่นและสำรวจสิ่งแวดล้อมโดยพ่อแม่คอยดูแลป้องกันอันตรายอยู่ใกล้ๆ เด็กจะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง (autonomy) เกิดขึ้น
1.3 อายุ 3 – 5 ปี
พัฒนาความคิดริเริ่ม ( initiative) ส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสเล่นสมมติ เล่นแบบใช้จินตนาการ เปิดโอกาสให้เด็กแสดงความคิดเห็น และรับฟัง สนใจ และตอบคำถามที่เด็กถาม
1.4 อายุ 6 -12 ปี
พัฒนาความขยันหมั่นเพียรในการทำงาน (industry) ให้โอกาสและส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ และฝึกฝนในการกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ทั้งรับผิดชอบตัวเองในกิจวัตรประจำวัน การเรียน และมีส่วนร่วมรับผิดชอบในงานส่วนรวมในบ้าน          2. ฝึกให้มีระเบียบวินัย (discipline) โดยกำหนด “กฏเกณฑ์ในบ้าน” (house’s rule) ที่ชัดเจนเช่นเดียวกับตารางกิจวัตรประจำวัน หน้าที่รับผิดชอบในเรื่องส่วนตัว และส่วนรวมภายในบ้าน อบรมกิริยามารยาท กำหนดขอบเขตImage may contain: 1 person, smiling, closeupที่ชัดเจนว่าอะไรทำได้และอะไรทำไม่ได้  ซึ่งรายละเอียดของกฏเกณฑ์ในบ้านของแต่ละครอบครัวจะแตกต่างกันตามสภาพทางสังคม ความเป็นอยู่ของครอบครัวนั้นๆ ข้อกำหนดสำหรับสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวก็แตกต่างกันไปตามอายุ เพศ เป็นต้น ซึ่งพ่อแม่จะเป็นผู้กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของลูกประกอบ และสื่อให้ทุกคนรู้ข้อตกลงอย่างชัดเจน
การฝึกระเบียบวินัย จะได้ผลต่อเมื่อผู้ใหญ่ในบ้านเห็นความสำคัญ ร่วมมือกันไม่ขัดแย้งกัน ทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ด้วยท่าทีที่จริงจังแต่นุ่มนวล หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์รุนแรง และส่งเสริมพฤติกรรมการแสดงออกที่ดีโดยการแสดงความชื่นชม โดยคำพูด หรือโดยกิริยาเช่น  ยิ้ม โอบกอด เป็นต้น เด็กที่มีระเบียบวินัยจะมีความอดทน สามารถรอคอย ควบคุมและจัดการกับอารมณ์ได้ดี
          3. ฝึกให้รู้จักแก้ปัญหา ( Problem solving skills) โดยเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ลูกได้คิด ทดลองลงมือแก้ปัญหาด้วยตนเอง และให้คำปรึกษาตามที่เด็กต้องการ หรือเข้าช่วยเหลือเมื่อสิ่งนั้นยากเกินความสามารถของลูกเท่านั้น
4. ฝึกทักษะทางอารมณ์ (Emotional coaching) การช่วยให้เด็กมีการพัฒนาเชาว์อารมณ์นั้นผู้ดูแลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ่อแม่ ครู อาจารย์ ก็ต้องใช้เชาว์อารมณ์กับเด็กๆ ด้วย ต้องสามารถตระหนักรู้อารมณ์ของเด็กๆ สามารถที่จะเห็นอกเห็นใจเขา ช่วยปลอบโยน ระงับอารมณ์ และจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นนั่นล่ะ เรื่องใหญ่สำหรับผู้เป็นพ่อแม่

 

ผู้ปกครองจะต้องฝึกทักษะทางอารมณ์ดังต่อไปนี้
1. เข้าใจในอารมณ์ความรู้สึกของลูก (Empathy)
เป็นพื้นฐานสำคัญของการฝึกทักษะทางอารมณ์ พ่อแม่ต้องตระหนักในความสำคัญ และไวในการรับรู้ภาวะอารมณ์ของลูก เข้าใจและยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นของลูก ไม่ดูถูก ล้อเลียน หรือตำหนิติเตียน ที่ลูกแสดงอารมณ์ต่างๆ ออกมา เช่น “แม่เข้าใจ ลูกคงเสียใจมากที่เพื่อนไม่เข้าใจความหวังดีของลูก”
2. สอนทักษะทางอารมณ์ในขณะที่ลูกกำลังเกิดอารมณ์นั้นๆ อยู่ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ด้านบวกหรือลบและเป็นโอกาสที่จะได้ใกล้ชิด  ลูกจะเข้าใจได้ดีถ้าสอนขณะที่อารมณ์นั้นๆ ยังคงอยู่
3. รับฟังและยอมรับความรู้สึกของลูกที่เกิดขึ้น ให้ลูกรู้ว่าไม่ผิดที่เขาจะรู้สึกเช่นนั้น และสะท้อนคำพูดความรู้สึกของเขา เช่น “เข้าใจที่ลูกบอกว่าลูกผิดหวังที่คุณพ่อผิดสัญญา ลูกคงเสียใจและน้อยใจ
4. ช่วยลูกหาชื่อที่ใช้เรียกอารมณ์ที่เขากำลังมีอยู่ รวมทั้งช่วยเขาหาคำอธิบายเกี่ยวกับอารมณ์นั้นๆ ให้รู้จักอารมณ์ของเขาให้ชัดเจน เช่น “ลูกกำลังรู้สึกโกรธ เพราะน้องมาทำของหนูเสีย เวลาใครมาทำให้ของที่รักเสียหาย เราก็รู้สึกโกรธ ไม่พอใจ และอยากจะโต้ตอบเขาบ้าง
5. กำหนดขอบเขตพฤติกรรมที่จะแสดงออกในอารมณ์นั้น ๆ  ให้ลูกเข้าใจว่าอารมณ์ ความรู้สึกทุกชนิดเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่พฤติกรรมที่จะแสดงออกขณะนั้น ๆ มีขอบเขตจำกัด ซึ่งมีหลักคิดดังนี้
5.1 ความรู้สึกเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ แต่ควบคุมได้
กฎข้อแรกของการจัดการอารมณ์คือ เด็กๆ ควรจะต้องรู้ก่อนว่าความรู้สึกของคนเรานั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง ห้ามไม่ได้แต่สิ่งที่เราสามารถห้ามได้คือการกระทำของเรา เช่น เมื่อมีใครมาเหยียบเท้าของเรา เราก็อาจจะรู้สึก โกรธ หรือ โมโห ซึ่งนั่นเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ลูกต้องเรียนรู้ก็คือ เมื่อโกรธแล้ว โมโหแล้ว เขาควรจะทำอย่างไร เช่น เขาควรจะเดินเข้าไปชกหน้าคนๆ นั้น หรือเขาควรที่จะพูดกับเขาดีๆ หรือเพียงแค่หายใจเข้าออกลึกๆ แล้วเดินจากไป ดังนั้นเมื่อลูกกำลังมีความรู้สึกอะไรบางอย่าง คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะต้องคอยสังเกตว่าการแสดงออกของเขานั้นเหมาะสมพอควรหรือไม่ ซึ่งถ้าคำตอบคือไม่ ก็ควรจะสอนเขาว่า “พ่อเข้าใจว่าลูกคงโกรธมาก แต่ต้องพูดกันดีๆ อย่ามาตีพ่อแบบนี้ มันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น
5.2 ในเหตุการณ์เดียวกันคนเราอาจจะรู้สึกต่างกัน
เนื่องจากคนเราแต่ละคนนั้นมีความสนใจหรือความคาดหวังในเรื่องแต่ละเรื่องต่างกัน เช่น บางคนอาจจะให้ความสำคัญกับเรื่องเรียนมาก เมื่อเรียนได้ไม่ดีก็จะรู้สึกแย่ ในขณะที่อีกคนให้ความสนใจกับเรื่องอื่นมากกว่า จึงไม่ได้รู้สึกอะไร ความรู้สึกของแต่ละคนนั้นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเหมือนกัน และการที่เราจะรู้ได้ว่าใครรู้สึกอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น ก็สามารถทำได้ด้วยการถามคำถาม เช่น “พ่อรู้ว่าลูกชอบเล่นเตะต่อยกับเพื่อน แต่ลูกลองดูสิว่าเพื่อนร้องไห้ทุกครั้งเลยเวลาที่เล่นแบบนี้ ลูกคิดว่าเค้าน่าจะรู้สึกยังไง” เมื่อเราตั้งคำถามชวนลูกให้คิดถึงความรู้สึกของผู้อื่น นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นหรือที่เรียกว่า Empathy และเมื่อเราตั้งคำถามชวนลูกให้คิดถึงความรู้สึกของตัวเอง นั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการเกิดความสามารถในการพิจารณาตัวเองหรือที่เรียกว่า self-monitoring
5.3 การพิจารณาตัวเองคือหัวใจสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์
หากเราอยากที่จะจัดการกับอะไรก็ตามเราก็ต้องรู้ให้ได้ก่อนว่าสถานการณ์ของสิ่งที่เราอยากจะจัดการนั้นเป็นอย่างไร อารมณ์ความรู้สึกของคนเราเองก็เช่นกัน หากเราอยากจะจัดการหรือควบคุมมัน ขั้นแรกเลยคือเราก็ต้องรู้เสียก่อนว่า ตอนนี้เรากำลังรู้สึกอย่างไร นี่เองคือสิ่งที่เรียกว่า self-monitoring ดังนั้นจึงต้องอาศัยการตั้งสติและค่อยๆ พิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจ แน่นอนว่าในเด็กเล็กๆ อาจจะเป็นการยากที่เขาจะทบทวนและบอกความรู้สึกของตัวเองได้ คุณพ่อคุณแม่จึงอาจจะต้องช่วยให้ลูกรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองด้วยการตั้งคำถาม เช่น “แม่ว่าตอนนี้หนูน่าจะกำลังโกรธอยู่ใช่ไหมลูก ไหนโกรธใคร โกรธเรื่องอะไรลองบอกแม่ซิ
5.4 ความรู้สึกมีหลายระดับ การจัดการแต่ละระดับอาจจะไม่เหมือนกัน
โดยทั่วไปแล้วหากเป็นเพียงความรู้สึกโกรธ กังวล เศร้า แค่เพียงเล็กน้อย การจัดการแบบง่ายๆ เช่น นับ 1-10 หรือ พยายามมองโลกในแง่ดีอะไรทำนองนี้ก็มักจะเพียงพอที่จะทำให้อารมณ์ของลูกสงบลงได้ แต่หากความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นมันมาก ท่วมท้น และรุนแรง คุณพ่อคุณแม่จะรับรู้ได้ก็ด้วยการสังเกตการแสดงออกของลูก หรือ การตั้งคำถาม เช่น “ที่หนูกลัวโดนคุณครูดุใช่มั้ยคะ หนูกลัวแค่ไหนลูก กลัวนิดหน่อย กลัวปานกลาง หรือกลัวมาก” ในกรณีที่ลูกอยู่ในวัยประถม เราอาจจะถามเป็นตัวเลขก็ได้เช่น “สมมุติ เลข 0 คือไม่เศร้าเลย ส่วนเลข 10 คือ เศร้าที่สุดในโลก จาก 0 ถึง 10 ตอนนี้หนูเศร้าประมาณเท่าไหร่ลูก” และหากคำตอบที่ได้คือ กลัวมากมาก หรือ เศร้าแบบ 10 เต็ม 10 สิ่งที่ดีกว่าการสอนให้เขาลองคิดแบบนั้นทำแบบนี้ อาจจะเป็นการปลอบประโลมให้อารมณ์ของเขาสงบลงเสียก่อน
5.5 บางครั้งอารมณ์ก็ต้องการเวลาและการปลอบใจ
ในช่วงแรกเราอาจจะทำอะไรกับมันได้ไม่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราประสบเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึก โกรธ กลัว หรือ เสียใจแบบสุดขีด เมื่ออารมณ์นั้นกำลังเกิดขึ้นแบบสดๆ ร้อนๆ ในช่วงแรกลูกอาจต้องการเพียงแค่การปลอบประโลม เช่น การกอด ลูบหัวเบาๆ หรือคำพูดที่แสดงความเห็นใจ เช่น “โถ หนูคงกลัวมากเลยใช่มั้ยเนี่ย ไม่เป็นไร แม่อยู่นี่แล้วลูก แม่อยู่นี่แล้ว” จนเมื่ออารมณ์ของเขาค่อยๆ สงบลง (ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการปลอบของคุณ) หลังจากนั้นก็จะเป็นเวลาที่เหมาะมากที่จะสอนเขาว่า ในคราวต่อไปเขาควรที่จะทำอย่างไรกับทั้งความรู้สึกของตัวเอง และ วิธีจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เขาจะต้องเจอ

Image may contain: 1 person, sitting          5.6 ความเชื่อเปลี่ยน ความรู้สึกเปลี่ยน
เพราะความคิด ความเชื่อหรือการมองโลกของคนเรานั้นมักจะมีผลต่อความรู้สึก เช่น หากลูกเชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่รักน้องของเขามากกว่าตัวเขาเอง หรือ หากลูกเชื่อว่าที่คุณครูไม่เลือกเขาให้เป็นตัวเอกของละครเวทีเพราะว่าคุณครูไม่ชอบเขา ก็คงจะพอเดาได้ว่าเด็กๆ ที่มีความเชื่อแบบนี้ เขาน่าจะรู้สึกอย่างไร และจากตัวอย่างที่ได้ยกมาข้างต้น ก็คงพอจะมองเห็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ นั่นก็คือขึ้นชื่อว่า “ความเชื่อ” แล้วมันอาจจะเป็นเรื่องจริง หรือ อาจจะไม่จริง หรือ อาจจะจริงแต่ไม่ทั้งหมดก็ได้ และก็บ่อยมากทีเดียวที่เด็กๆ จะรู้สึกทุกข์ใจจากความเชื่อที่มันไม่จริงหรือจริงแต่ไม่ทั้งหมด จึงทำให้วิธีจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยม ก็คือการชวนลูกให้ทบทวนความเชื่อของตัวเองว่ามันจริงรึเปล่าโดยการตั้งคำถาม เช่น “ลูกว่ามีเหตุผลอื่นอีกมั้ยที่ทำให้เพื่อนของลูกเค้าพูดกับลูกแบบนั้น” หรือในกรณีที่ความเชื่อของลูกนั้นเป็นเรื่องจริง เช่น เพื่อนของเขาอาจจะไม่ชอบเขาจริงๆ คุณก็ยังสามารถที่จะชวนเขาพูดคุยต่อไปได้ว่า แล้วเขาสามารถที่จะทำอะไรกับเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ้าง ซึ่งหากสุดท้ายแล้วมันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขหรือทำอะไรได้ คุณก็ยังสามารถที่จะปลอบใจเขา เข้าใจความรู้สึกของเขา หรืออาจจะชวนเขาปรับตัวหรือปล่อยวางกับเรื่องเหล่านั้นก็ได้
5.7 อารมณ์ที่รุนแรงอาจเกิดจากการสะสม
โดยทั่วไปแล้วเมื่อมีเหตุการณ์อะไรก็ตามมากระทบจิตใจของคนเราจนมีความรู้สึกเกิดขึ้น หากไม่ใช่ความรู้สึกอะไรที่รุนแรงมากนัก คนเราก็มักจะใช้วิธีจัดการแบบง่ายๆ ที่เราเรียกว่า “เก็บความรู้สึก” หรือถ้าจะเรียกว่า “ก็ทนๆเอา” ซึ่งคนเราก็จะมีความสามารถในการเก็บอารมณ์ได้ประมาณนึง โดยจะเก็บสะสมเอาไว้ในใจเหมือนเวลาที่เราเก็บน้ำเอาไว้ในเขื่อน ยกตัวอย่าง เช่น หากมีคนๆ หนึ่งชอบมาพูดจาล้อเลียนเราในทุกๆ เรื่อง ถึงคำพูดอาจจะดูเหมือนทีเล่นทีจริง แต่บางครั้งก็อาจทำให้เราเกิดความรู้สึกที่อาจจะเลือกเก็บมันเอาไว้ในใจทุกวันๆ จนเมื่อเขื่อนอารมณ์ใกล้จะเต็มคุณก็อาจจะพบว่าเมื่อได้ยินคำพูดแบบเดิมๆ จากคนเดิมๆ แต่ในคราวนี้ คุณอาจจะทนมันได้น้อยลงและอาจจะตอบโต้หรือแสดงความรู้สึกออกมาอย่างรุนแรงราวกับภูเขาไฟระเบิดจนทำให้คนรอบข้างงงว่าคุณเป็นอะไรนั่นก็เป็นเพราะว่า ความรู้สึกที่สะสมมานานนั้นมันพรั่งพรูออกมาโดยมีเรื่องอะไรเล็กๆน้อยๆในวันนี้มาสะกิดนั่นเอง ดังนั้นเมื่อสังเกตเห็นว่าลูกนั้นมีปฏิกริยารุนแรงอย่างไม่สมเหตุสมผลกับเรื่องอะไรเล็กๆ น้อยๆ นอกจากการสอนให้เขาควบคุมความรู้สึก ณ ตอนนั้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะต้องคอยมองหาด้วยว่า เขามีเรื่องอื่นๆ ที่ทำให้ทุกข์ใจค้างอยู๋ในเขื่อนอารมณ์ของเขาบ้างรึเปล่า
5.8 อย่าละเลยอารมณ์ทางบวก
มีคุณพ่อคุณแม่หลายคนเข้าใจผิดว่าการจัดการกับความรู้สึกนั้นเอาไว้สำหรับจัดการอารมณ์ลบๆ เช่น เศร้า โกรธ หรือ กลัว เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว การชวนลูกให้พิจารณาถึงอารมณ์ความรู้สึกทางบวก เช่น ดีใจ มีความสุข สนุกสนาน ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะมีคนไข้โรคซึมเศร้าหลายคนทีเดียวที่เมื่อจิตแพทย์ถามว่า เคยมีความสุขกับเรื่องอะไรบ้าง ปรากฏว่าเขาเหล่านั้นกลับนึกไม่ออก ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากว่ากำลังอยู๋ในภาวะซึมเศร้า แต่อีกส่วนหนึ่งมักเกิดจากการที่เราเองอาจไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับอารมณ์ทางบวกของตัวเองสักเท่าไหร่ เมื่อรู้ดังนี้แล้วเมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกกำลังมีความสุข ก็อาจจะชวนเขาให้พูดคุยถึงมัน เช่น “ดูวันนี้ลูกมีความสุขมากเลย ไหนเล่าให้พ่อฟังหน่อยซิว่า ไปทำอะไรสนุกๆมาบ้าง” เพราะการได้เล่าเรื่องที่มีความสุข จะทำให้เขาต้องนึกถึงมัน และ เมื่อเขานึกถึงมัน เขาก็จะจำมันได้ในที่สุด
5.9 ยิ่งมีประสบการณ์ ยิ่งคุมอารมณ์ได้ดี
เนื่องจากบางความรู้สึก เช่น ความวิตกกังวลในวันที่จะต้องออกไปพูดหน้าชั้นนั้น ที่ไม่ว่าจะคิดอย่างไร หรือ จะทำอะไรสุดท้ายแล้วเราก็อาจจะยังคงรู้สึกกังวลเท่าเดิมอยู่ดี ยิ่งเป็นครั้งแรกๆ ด้วยแล้วล่ะก็แต่เราก็จะพบว่า เมื่อทำกิจกรรมเหล่านั้นไปมากๆ เข้า นานๆ ไปความกังวลก็จะค่อยๆ น้อยลง ซึ่งก็เกิดจะเกิดจากการที่เราชำนาญหรือเคยชินกับการทำสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง ดังนั้นอีกวิธีหนึ่งในการพัฒนา EQ ของลูก ในเวลาที่เขากำลังเครียดหรือกังวลกับการทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อนก็อาจจะเป็นแค่เพียงการปลอบเขาและบอกเขาว่า “ทำไปเถอะลูก เดี๋ยวทำบ่อยๆ หนูก็จะกังวลน้อยลงไปเอง
5.10 ความฉลาดทางอารมณ์ของพ่อแม่ มีผลต่อความฉลาดทางอารมณ์ของลูก
เนื่องจากว่าอารมณ์ของคนเรานั้น สามารถไปกระตุ้นให้คนรอบข้างให้เกิดอารมณ์เดียวกันได้ เช่น คุณคงเคยมีประสบการณ์ที่สมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว หัวเราะเป็นบ้าเป็นหลังเพราะมุขตลกฝืดๆ ในทีวี จนทำให้ทุกคนในบ้านพลอยหัวเราะไปด้วย ด้วยความขบขันที่เห็นคนๆ นั้นหัวเราะขนาดนั้น หรือ หากคุณมีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งที่เป็นคนขี้โมโห หงุดหงิดง่าย เห็นอะไรก็ขวางหูขวางตา ไม่พอใจอะไรก็บ่นๆๆๆๆๆๆ อยู่กันไปสักพัก คุณก็อาจจะรู้สึกหงุดหงิดไปกับเขาด้วยว่า มันจะหงุดหงิดอะไรกันนักกันหนา จึงสำคัญมากที่นอกจากจะฝึกลูกให้เป็นคนที่มี EQ ดีแล้ว คุณพ่อคุณแม่เองก็ควรที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่รู้ทันอารมณ์และสามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้อย่างเหมะสมด้วย

การที่คุณพ่อคุณแม่แสดงแบบอย่างที่ดีให้กับลูกๆ นี้นอกจากจะทำให้บรรยากาศในบ้านอบอุ่นปลอดภัยและเหมาะสมต่อการเติบโตของลูกๆ แล้ว พวกเขาจะยังได้เห็น จดจำ และ ลอกเลียนแบบวิธีการ หลัก คิด และ คำพูดต่างๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ เอาไว้จัดการกับอารมณ์ของตนเองอีกด้วย เมื่อลูกได้เติบโตขึ้นในบ้านที่มีการจัดการอารมณ์ที่ดี คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะพอวางใจได้ว่า เมื่อถึงวันที่เขาเป็นผู้ใหญ่ ลูกก็น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดี และ สามารถถ่ายทอดทักษะดีๆเหล่านี้ต่อไปยังลูกของเขาได้ ดังที่เราเคยทำมานั่นเอง

          การฝึกฝนพัฒนาทักษะทางอารมณ์ให้กับเด็กๆ นี้ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง จะต้องเสียสละเวลาให้เด็กๆ มีความอดทนสูง ใจเย็น ไม่ปิดกั้นการแสดงอารมณ์ทั้งด้านลบและด้านบวก และใช้โอกาสนั้นในการแนะนำพฤติกรรมที่เหมาะสม  แล้วลูกของคุณจะเป็นผู้ที่มี EQ ที่ดีในอนาคต  

อ้างอิงข้อมูลจาก
EQ กับความสำเร็จในชีวิต
โดย ทรงศิริ ยุทธวิสุทธิ
เลี้ยงลูกอย่างไรให้มี EQ ดี
โดย ผศ.นพ.ชาตรี วิฑูรชาติ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
10 ทักษะสร้างหลักคิดเพื่อพัฒนาอารมณ์ EQ ของลูกน้อย
โดย แม่ฮันน่าห์

เรียบเรียงโดย: First Position Ballet Studio
#โรงเรียนบัลเล่ต์ #บัลเล่ต์ #แจ๊ส #Ballet #Jazz #Freeclass #exercise #บัลเล่ต์นนทบุรี #บางใหญ่ #บัลเล่ต์ผู้ใหญ่ #จิตวิทยาเด็ก #บางบัวทอง #นนทบุรี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

xnxxyo.com